others

วิธีจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ให้อยู่หมัด พร้อมเปิดกลโกงที่ใช้ล่อเหยื่อ

เขียนโดย admin - Apr 11, 2024

“แก๊งคอลเซ็นเตอร์” เป็นคำที่แค่ได้ยินก็พาให้หงุดหงิดได้แล้ว เพราะแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นกลุ่มมิจฉาชีพที่กำลังระบาดและสร้างความเดือนร้อนให้กับหลาย ๆ คน จนปรากฏเป็นข่าวมากมาย บางคนต้องเสียเวลา แต่ร้ายแรงกว่านั้นเพราะบางคนถึงขั้นเสียทรัพย์สินให้กับเหล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่โทรเข้ามาหลอกลวงผ่านโทรศัพท์มือถือ ในบทความนี้เราจะมาบอกต่อและแนะวิธีจัดการกับเหล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มาดูกันว่าทำยังไงได้บ้าง


รูปแบบของแก๊งคอลเซ็นเตอร์


รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง คำพูดนี้สามารถใช้ได้กับการจัดการเหล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แก๊งค์มิจฉาชีพที่คอยล่อลวงผู้อื่นผ่านโทรศัพท์มือถือ ก่อนอื่นเรามาดูวิธีการส่วนใหญ่ที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้ในการหลอกลวงผู้เสียหายกันก่อน เพื่อจะได้รู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อ


รูปแบบของบริษัทขนส่ง


วิธีการที่พบบ่อยคือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้ จะทำทีเป็นบริษัทขนส่ง เช่น ไปรษณีย์ไทย, DHL, Kerry, Flash express โดยให้เรากดเบอร์โทรติดต่อภายใน เมื่อเรากดแล้วก็จะมีแก๊งคอลเซ็นเตอร์บอกว่าเรามีการส่งของผิดกฎหมายให้ดำเนินการจ่ายเงินหรือขอข้อมูลเพิ่ม ในบางครั้งก็จะระบุว่ามีของตกข้างเป็นสินค้าจากต่างประเทศ หากต้องการให้ของออกจากคลัง ต้องมีการจ่ายเงินเพิ่มเติม

ปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือธนาคาร


โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ใช้วิธีการนี้ในการหลอกผู้เสียหาย จะโทรเข้ามาและอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อหลอกถามข้อมูลส่วนตัว เช่น รหัสบัตรประจำตัวประชาชน รหัสบัตรเครดิต หรือมีการปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ บอกว่าเรามีคดีต่าง ๆ และหลอกให้โอนเงิน


หลอกให้คลิกลิงก์รับโชคหรือรับรางวัล


รูปแบบของแก๊งคอลเซ็นเตอร์แบบถัดมาคือ จะโทรเข้ามาและบอกให้เหยื่อคลิกเข้าไปยังเว็บไซต์ที่ส่งตามมาทางข้อความ เพื่อเป็นการรับเงินรางวัลในรูปแบบต่าง ๆ อาจจะเป็นเครดิตเติมเงินโทรศัพท์หรือเงินโอนเข้าบัญชี แบบมีจำนวนจำกัด หากเราเผลอคลิกเข้าไปก็จะโดนหลอกได้ เช่น หลอกให้ผูกบัญชีธนาคาร หลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัว หรืออาจจะทำให้เครื่องติดมัลแวร์ได้


เสนอเงินกู้ยืม


นอกจากสามวิธีด้านบนแล้ว เหล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังมีการใช้วิธีโทรเข้ามายังโทรศัพท์ของเหยื่อ และเสนอเงินให้กู้ยืม หากเหยื่อหลงกลก็จะบอกให้ทำการโอนเงินค้ำประกันเข้าไปก่อน แล้วจึงจะให้เงินกู้ แต่เมื่อโอนไปแล้วก็เงียบหายไป แถมไม่ได้เงินประกันคืนอีกด้วย


ชักชวนลงทุนในหุ้นหรือคริปโตฯ


ในบางกรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะมีการโทรเข้ามาเพื่อชักจูงผู้เสียหายให้ลงทุน โดยอ้างถึงผลตอบแทนที่สูงเกินจริง เมื่อเหยื่อหลงเชื่อก็จะให้โอนเงินเพื่อนำไปลงทุนต่อให้ สุดท้ายก็จะเงียบหายไป หรือบางครั้งก็มีการหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวไปนั่นเอง


วิธีจัดการและป้องกันแก๊งคอลเซ็นเตอร์


ปัจจุบันวิธีการต่าง ๆ ที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้หลอกล่อเหยื่อมีหลากหลายมากขึ้น และแนบเนียนมากขึ้น ทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ วิธีการพูด วิธีการดำเนินการ รวมไปถึงบางครั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็มีข้อมูลส่วนตัวของผู้เสียหาย ทำให้มีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น ดังนั้นเราจึงควรรู้วิธีสังเกตและป้องกันเหล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สามารถทำได้ดังนี้

การมีสติและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม


โดยปกติแล้วแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะเล่นความรู้สึกกลัวและโลภ โดยการอ้างเรื่องของรางวัล เงินปันผลการลงทุน หรือเหตุการณ์ร้ายแรงอื่น ๆ ที่มีชื่อผู้เสียหายเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้หลายคนตกเป็นเหยื่อโดยไม่ทันตั้งตัว ดังนั้นเมื่อได้รับโทรศัพท์สายแปลก ๆ ที่ไม่คุ้นเคย ให้ลองพิจารณาคำพูดจากปลายสาย โดยปกติแล้วเรื่องสำคัญต่าง ๆ ทั้งเรื่องคดีความ การโอนเงิน การผูกบัตรเครดิต การลงทุนที่ได้ผลตอบแทนต่าง ๆ ไม่มีที่ไหนที่สามารถทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์ได้ ดังนั้นหากมีคนโทรเข้ามาให้ทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ สันนิษฐานได้ว่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทั้งนี้ให้ลองสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจให้ข้อมูลส่วนตัว รวมถึงให้สอบถามปลายสายว่าชื่ออะไร มาจากหน่วยงานไหน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินการทางคดีได้ต่อไป


สังเกตเบอร์โทรที่มีลักษณะไม่ปกติ


อีกหนึ่งข้อสังเกตที่ทำให้สามารถสันนิษฐานได้ว่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์คือ ลักษณะของเบอร์โทรที่ใช้โทรเข้ามาจะปรากฏตัวเลขจำนวนหลายตัว พร้อมทั้งมีเครื่องหมายบวกด้านหน้า เช่น นำหน้าด้วย +66, +880


ตรวจสอบเบอร์แปลกที่โทรเข้ามา


เมื่อมีเบอร์แปลโทรเข้ามา สามารถตรวจสอบเบอร์โทรเหล่านั้นได้หลายวิธีด้วยกัน ดังนี้


  • Google: นำเบอร์โทรดังกล่าวไปเสิร์ชหาใน Google เผื่อมีประวัติต่าง ๆ หรือประวัติอาชญากรรมที่เคยมีการแจ้งความไว้แล้ว
  • Facebook: นำไปเสิร์ชหาบน Facebook เพื่อเช็กโปรไฟล์เจ้าของเบอร์โทร ซึ่งจะมีข้อมูลปรากฏขึ้นมาหากเคยมีการผูกบัญชีไว้กับเบอร์โทร
  • Line: ให้เช็กที่ช่องเพิ่มเพื่อน โดยใส่เบอร์โทรลงไป จะปรากฏบัญชีไลน์ของเจ้าของเบอร์โทร
  • WHOSCALL: เป็นแอปฯ ตรวจสอบเบอร์โทรมิจฉาชีพ โดยแอปฯ จะระบุว่าเบอร์นี้เป็นของใคร หรือใครกำลังโทรหาเรานั่นเอง

บล็อกเบอร์โทรแก๊งคอลเซ็นเตอร์สำหรับผู้ใช้ dtac


สำหรับใครที่ใช้งานเบอร์โทรศัพท์ของ dtac สามารถแจ้งบล็อกเบอร์โทรมิจฉาชีพหรือข้อความมิจฉาชีพได้ที่เว็บไซต์ https://www.dtac.co.th/block-scam-numbers หรือสามารถโทรและส่งข้อความแจ้งได้ที่เบอร์ 1678 หรือ หากป้องกันเบอร์โทรที่นำหน้าด้วย +66, +880 สามารถกด *138*1# แล้วกดโทรออก เพื่อเป็นการระงับสายที่โทรมาจากต่างประเทศ (ในกรณีนี้ท่านจะไม่สามารถรับสายจากต่างประเทศได้ หากต้องการยกเลิกการระงับสาย กด*138*2# แล้วกดโทรออก) สามารถทำได้ง่ายและสะดวก เป็นอีกช่องทางที่ช่วยลดโอกาสการรับสายก่อกวนจากเหล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์


โดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกต้องทำยังไง


ในกรณีที่พลาดหลงเชื่อเหล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไปแล้ว ผู้เสียหายสามารถทำได้ดังนี้


  • ให้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดที่มี
  • โทรไปยังธนาคารหรือสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อระงับการทำธุรกรรม
  • หากธุรกรรมการเงินสำเร็จไปแล้ว ให้รวบรวมหลักฐานเพิ่มเติมและแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
  • สามารถแจ้งเบาะแสไปยังกรมสอบสวนพิเศษหรือ DSI ได้

ภัยหรือกลโกงในทุกวันนี้ก็มาในรูปแบบที่แนบเนียนมากขึ้น สิ่งที่น่ากังวลคือหลายครั้งเหล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์รู้ข้อมูลส่วนตัวของผู้เสียหายมาก่อนแล้วบางส่วน ทำให้หลายคนเชื่อถือได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือ ห้ามให้ข้อมูลส่วนตัวโดยไม่จำเป็น หรือดาวน์โหลดแอปฯ แปลก ๆ เข้ามายังโทรศัพท์มือถือ และมีสติทุกครั้ง จำไว้ว่าหากเป็นเรื่องสำคัญหรือการโอนเงิน ต้องมีหลักฐานชัดเจนแล้วเท่านั้น