‘ดร. ชนนิกานต์ จิรา’ หัวเรือใหญ่แห่ง True Digital Academy กับภารกิจการพัฒนากำลังพลด้านดิจิทัลของชาติ และลดช่องว่างทักษะแรงงานไทย เพื่อรับมือการเขย่าภูมิทัศน์ของ Generative AI

26 กันยายน 2566


เมื่อ Chat GPT เปิดตัวในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 โปรแกรมดังกล่าวมีผู้ใช้งานเติบโตกว่า 100 ล้านคนภายในระยะเวลาเพียงสองเดือน โดยในจำนวนนั้นยังรวมไปถึงองค์กรชั้นนำระดับโลก อาทิ Microsoft, Expedia, Coca Cola และ Snap Inc ด้วย

 

จะเห็นว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (digital transformation) ถือเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ของภาคธุรกิจ การมาถึงของเทคโนโลยีอย่าง Generative AI ซึ่งคาดว่าจะพลิกโฉมโลกการทำงาน ยิ่งเร่งให้องค์กรต่างๆ ปรับตัวเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

 

True Blog ชวน ดร. ชนนิกานต์ จิรา (เฟิร์น) ผู้อำนวยการ True Digital Academy (TDA) มาพูดคุยเกี่ยวกับความท้าทายของการศึกษาและศักยภาพแรงงานไทยในการรับมือกับการเขย่าภูมิทัศน์ทางเทคโนโลยี รวมทั้งภารกิจสำคัญของ True Digital Academy ในการช่วยองค์กรธุรกิจปิดช่องว่างทางทักษะเพื่อสร้าง digital talent และเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

 

ปิดช่องว่างทักษะแรงงานไทย

“ปัจจุบัน ปัญหาแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของตลาด (skills mismatch) ถือเป็นปัญหาที่สำคัญมาก โดยยังขาดแรงงานสาย STEM และดิจิทัล ที่มีความพร้อมต่อการทำงาน หรือแม้เรียนมาตรงสาย บุคลากรอาจไม่ได้มีทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดงานที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว” ดร. ชนนิกานต์กล่าว

 

ข้อมูลจาก World Economic Forum ระบุว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ทักษะความรู้ความสามารถในเชิงเทคนิคต่างๆ (hard skill) กว่า 44% ที่ใช้ในปัจจุบันจะล้าสมัย ทำให้การต่อยอดความรู้และเพิ่มเติมทักษะใหม่ (upskilling and reskilling) ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในโลกการทำงานยุคใหม่ และถือเป็นความท้าทายสำคัญของแรงงานไทย

 

การพัฒนาทักษะให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของความต้องการตลาดแรงงานถือเป็นประเด็นท้าทายใหม่ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญ เนื่องด้วยความต้องการบุคลากรด้าน STEM (วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) และความต้องการแรงงานด้านดิจิทัล (digital talent) ที่เพิ่มสูงขึ้นตามบริบทความเปลี่ยนแปลง

เธอเสริมว่า ปี 2566 นี้ ถือเป็นปีแห่ง ‘จุดเปลี่ยนทางด้านเทคโนโลยี’ โดยการมาของ generative AI ในบริบทที่สามารถเข้าถึงง่ายสำหรับบุคคลทั่วไป ทำให้เกิดการเขย่าภูมิทัศน์ทางเทคโนโลยีขนานใหญ่ นำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายของมนุษยชาติ และหนึ่งในความท้าทายสำคัญของ generative AI ต่อตลาดแรงงานนั้นคือการที่ AI อาจเข้ามาทำงานบางประเภทแทนที่มนุษย์ ทำให้คนในตลาดแรงงานต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง และเร่งพัฒนา ‘ทักษะแห่งอนาคต’ ที่เอื้อให้สามารถทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างสร้างสรรค์ อาทิ การรู้เท่าทันเทคโนโลยี (technological literacy), ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ซึ่งถือเป็นทักษะที่นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ทลายข้อจำกัดต่างๆ และการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) อันเป็นรากฐานของการพัฒนาและจัดกระบวนการคิด หาความเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่างๆ นำไปสู่การตั้งคำถาม และความกล้าที่จะคิดแตกต่าง[1]

 

ทลายกำแพงการเรียนรู้

ดร. ชนนิกานต์ เริ่มต้นการศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย และสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในสายวิทย์-คณิต ก่อนจะได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีถึงเอก ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในระดับปริญญาตรีนั้น เธอเลือกเรียนในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และภายหลังศึกษาต่อปริญญาเอกด้าน Technology & Operations Management ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

 

ก่อนเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ดร. ชนนิกานต์ต้องเรียนมัธยมปลายที่สหรัฐฯ เป็นเวลาหนึ่งปี เพื่อปรับตัวเข้ากับระบบการศึกษาของอเมริกา และเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบ SAT ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เธอได้มีโอกาสสัมผัสกับความแตกต่างของระบบการศึกษาไทยและตะวันตกเป็นครั้งแรก

 

“สมัยตอนเรียนอยู่ ม.ปลาย ระบบการศึกษาไทยเรามี สายวิทย์-คณิต, ศิลป์คำนวณ, ไม่ก็ศิลป์ภาษา ขณะที่ในส่วนของการวัดผลส่วนมากใช้วิธีสอบแบบปรนัย ตอนที่ไปเรียนต่อ ได้เห็นเพื่อนๆ สามารถเรียนภาษาฝรั่งเศส ปรัชญา และวิชาเคมีไปพร้อมกันได้ โดยไม่มีกำแพงวิทย์-ศิลป์เข้ามาเป็นอุปสรรค โดยเป็นการออกแบบการศึกษาที่เน้นบุคลิกและความสนใจของผู้เรียน แต่ยังมีกรอบเพื่อให้ได้รับประสบการณ์การเรียนรู้แต่ละหมวดครบถ้วน” ดร. ชนนิกานต์กล่าว พร้อมเสริมว่า “นอกจากนี้ ทักษะสำคัญอย่างการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) นั้นฝังอยู่ในวิธีการเรียน ที่เน้นการหาความเชื่อมโยง เน้นการถก การคิด รวมถึงการเขียนเชิงวิพากษ์ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของการสร้างความเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก”

 

เธอมองว่า ปัจจุบันก็เห็นแนวโน้มการศึกษาไทยที่เปลี่ยนไปทั้งในระดับมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัย (เช่น ผ่านโครงการ Education Sandbox) ที่มีการนำความยืดหยุ่นเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของการออกแบบหลักสูตร เปิดโอกาสให้มีการเลือกเรียนข้ามสาย มีลักษณะแบบสหวิทยาการมากขึ้น เพิ่มความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ เช่น ภาคธุรกิจ รวมถึงการเก็บหน่วยกิตหรือการทำ credit bank ข้ามมหาวิทยาลัยหรือผ่านหลักสูตรทางเลือกอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นวิวัฒนาการที่สำคัญของการศึกษาไทยในการปรับตัวเข้ากับภูมิทัศน์การเรียนรู้และความต้องการทักษะที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

 

“วิวัฒนาการเหล่านี้ สอดรับกับปรากฏการณ์ที่ชัดเจนอย่างหนึ่งในโลกปัจจุบัน ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและดิจิทัล คือ เส้นแบ่งระหว่างการทำงานและการศึกษาบางลงมาก ความรู้ไม่ได้หยุดอยู่เพียงขอบรั้วของสถาบันการศึกษา แม้ว่าจะเรียนจบ ได้ปริญญาแล้ว ก็ยังต้องเรียนรู้ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long learning) จึงเป็นปรัชญาที่คนทำงานทุกคนควรคำนึงถึง” ผู้อำนวยการ True Digital Academy อธิบาย

 

Practitioner ที่เข้าใจความต้องการธุรกิจ และความสำคัญของ ‘คน’

เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก ดร. ชนนิกานต์ ก็เดินทางกลับประเทศไทย และเข้าทำงานในบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก McKinsey & Company โดยเน้นเรื่องการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล (digital transformation) การสร้างธุรกิจดิจิทัล (digital business building) และการศึกษา ก่อนภายหลังจะได้รับโอกาสให้เข้ามาร่วมงานกับ True Digital Academy ในฐานะผู้อำนวยการ

 

“ตอนที่ทำงานด้าน consulting สนใจเรื่อง digital transformation มาก โดยพบว่าประเด็นที่ท้าทายที่สุดในการเปลี่ยนผ่านองค์กรให้พร้อมสู่อนาคต ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของ “คน” ส่วนเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้เป็นสิ่งที่สนใจเป็นทุนเดิม เพราะสำหรับเฟิร์นแล้ว การศึกษาเท่ากับโอกาส รู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากที่ได้รับโอกาสที่ดีผ่านการศึกษามาตลอด จึงคิดเสมอว่า อยากทำงานที่สามารถส่งต่อโอกาสเหล่านี้ให้ผู้อื่นบ้าง นั่นทำให้งานที่ True Digital Academy ตอบโจทย์ที่สุด เพราะถือเป็นจุดคาบเกี่ยวระหว่างการสร้างศักยภาพบุคลากร การเปลี่ยนผ่านดิจิทัล และการสนับสนุนด้านการศึกษาและการเรียนรู้” ดร. ชนนิกานต์เล่า

True Digital Academy กับการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและการเรียนรู้ตลอดชีวิต

True Digital Academy ได้รับการก่อตั้งขึ้นในปี 2562 โดย ดร.ไมเคิล กรีซีลส์ Chief Digital Officer เครือเจริญโภคภัณฑ์ และศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล ทรู คอร์ปอเรชั่น โดยมีภารกิจสำคัญ คือการส่งเสริมและพัฒนาคนและองค์กรในประเทศไทยให้มีทักษะที่สอดรับกับปัจจุบันและอนาคต สามารถแข่งขันในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในระดับนานาชาติได้อย่างทัดเทียม และการพัฒนากำลังพลด้านดิจิทัลของชาติเพื่อปิดช่องว่างทางดิจิทัล

 

ในช่วงแรกของการก่อตั้ง TDA มุ่งเน้นการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลของทรู และตั้งแต่ปี 2564 ได้เริ่มมีการขยายการให้บริการไปยังองค์กรภายนอก ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ กลุ่มองค์กร โดยทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลในด้านบุคลากร ผ่านโปรแกรม upskill และ reskill ด้านดิจิทัลและโซลูชันต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมของ digital talent และ กลุ่มบุคคลทั่วไป ที่สนใจเพิ่มพูนต่อยอดทักษะดิจิทัลหรือต้องการเปลี่ยนสายงานสู่ด้านเทค (tech) หรือดิจิทัล ผ่านหลักสูตรระดับโลกของภาคีด้านหลักสูตรของ TDA คือ General Assembly ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำของโลก ผู้บุกเบิกด้านการศึกษาและการเปลี่ยนสายอาชีพสู่สายเทคและดิจิทัล จากสหรัฐอเมริกา

 

ที่ผ่านมา TDA มีการพัฒนาโซลูชันใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อตอบโจทย์ของภาคธุรกิจ องค์กร และความต้องการแรงงานของไทย เช่น โซลูชัน Recruit, Train and Deploy (RTD) ซึ่งช่วยแก้ปัญหาสำคัญของหลายองค์กรที่มีความท้าทายในการหาบุคลากรด้านดิจิทัลหรือเทคที่มีทักษะตรงตามต้องการที่พร้อมทำงาน โดย TDA จะทำหน้าที่เฟ้นหาบุคลากรที่มีความสามารถและฝึกอบรมให้ตรงกับความต้องการ ทำให้บุคลากรเหล่านี้สามารถลงสนามทำงานจริงได้ทันที

 

“TDA เป็นผู้ให้บริการที่เข้าใจองค์กร เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรด้านเทคโนโลยี เลยมีความเข้าใจดีว่า ว่าทักษะใดเป็นทักษะที่นำไปใช้ได้จริง เป็นที่ต้องการ และตอบโจทย์ธุรกิจได้ รวมถึงตอนนี้ เรามีการขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ เพื่อให้เชื่อมต่อหลักสูตรกับมหาวิทยาลัย ทั้งผ่าน credit bank และหลักสูตรร่วมต่างๆ โดยหวังว่า TDA จะเป็นหนึ่งในภาคีสำคัญในการส่งเสริมระบบนิเวศของการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) ของประเทศ” ดร. ชนนิกานต์กล่าว

 

สำหรับทรู คอร์ปอเรชั่นนั้น TDA มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่การเป็นองค์กรโทรคมนาคม-เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยออกแบบเส้นทางการการเรียนรู้ที่เริ่มจากเวิร์กชอปกับคณะผู้บริหารระดับสูง เพื่อวางบทบาทของผู้นำในการส่งเสริมและผลักดันองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ต่อด้วยการพัฒนาพนักงานระดับหัวหน้า ให้มีความเข้าใจพื้นฐานของธุรกิจด้านดิจิทัล สามารถนำไปต่อยอดตามความถนัดของตนเอง และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของทีมตนเอง

 

นอกจากนี้ มีหลักสูตรคู่ขนานที่เรียกว่า Data Champion ซึ่งให้แต่ละหน่วยงานเสนอตัวแทนมาฝึกวิธีการคิดแบบขับเคลื่อนด้วยข้อมูล การใช้เครื่องมือวิเคราะห์ จัดระบบ และแสดงภาพข้อมูลต่างๆ เพื่อยกระดับสมาชิกในทีมให้มีทักษะการวิเคราะห์ ตอบโจทย์ปัญหาทางธุรกิจด้วยข้อมูล ผ่านการทำโปรเจกต์จริงที่สามารถไปต่อยอดในหน่วยธุรกิจของตนเองได้ รวมทั้งยังมีการจัดสรรทุนการศึกษาให้คนทรูและบุคคลภายนอกสามารถเปลี่ยนสายอาชีพเข้าสู่ด้านเทคและดิจิทัล ผ่านการเพิ่มพูนทักษะเป็นเวลา 3 เดือนเต็มด้วยหลักสูตรระดับโลก เพื่อเปิดโอกาสสำหรับผู้ที่ต้องการก้าวเข้าสู่สายงานที่มีความต้องการอย่างมากในตลาดแรงงานอย่างนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data scientist)

 

ต่อยอดสู่การเป็น Digital Talent

ปัจจุบัน องค์กรต่างพูดถึงการสร้าง ‘digital talent’ หรือบุคลากรที่มีทักษะความสามารถด้านดิจิทัล ซึ่งนิยามของคำว่า digital talent นั้น ดร. ชนนิกานต์อธิบายว่าสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ digital talent ตามนิยามแบบแคบ อันหมายถึงบุคลากรที่ทำงานเฉพาะด้านในสายดิจิทัลหรือเทคโนโลยี และ digital talent ตามนิยามแบบกว้าง อันหมายถึงบุคลากรที่สามารถช่วยผลักดันองค์กรสู่ความพร้อมสำหรับอนาคต (Future-ready) ในยุคที่ดิจิทัลมีความจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งตามนิยามแบบกว้างนั้น จะต้องอาศัยองค์ประกอบ 3 ส่วน ได้แก่

 

1. กรอบความคิด (mindset) บุคคลนั้นจะต้องมีทัศนคติที่เปิดกว้างต่อองค์ความรู้ใหม่ๆ มีความช่างสงสัยใคร่รู้ ความคล่องตัว และการสร้างกรอบความคิดแบบเติบโตก้าวกระโดด (exponential mindset) เป็นต้น

 

2. ทักษะ (skill) ได้แก่ hard skill และ soft/power skill ซึ่งทักษะแบบ hard skill ถือเป็นทักษะเฉพาะด้านที่ใช้ในแต่ละสายอาชีพ และมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย อาทิ การเขียนโค้ด (coding) โดยกำแพงของ hard skill มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ เช่น ปัจจุบัน ในตลาดมีเครื่องมือประเภท low code/no code มาช่วยลดความซับซ้อนของขั้นตอนการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ ลง ทำให้พนักงานที่ไม่มีพื้นฐานไอทีสามารถเรียนรู้การพัฒนาแอปพลิเคชันหรือซอฟต์แวร์ได้ในระยะเวลาสั้นลง ขณะที่ในส่วนของ soft skill หรือ power skill นั้นนับว่าเป็นทักษะที่ทวีความสำคัญขึ้นมากในยุคปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะทักษะความคิดสร้างสรรค์ (creativity) และทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ​(critical thinking)

 

3. ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรม (industry knowledge) บุคคลนั้นๆ มีองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ตัวเองทำงานอยู่

 

ในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนเร็ว และ generative AI นั้นเป็นจุดเปลี่ยนที่อาจนำมาซึ่งทั้งความท้าทายและโอกาส ความสามารถในการเรียนรู้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก การลงทุนที่ดีที่สุดจึงเป็นการเลือกลงทุนในตัวเอง 

“แนะนำให้หาจุดแข็งของตัวเองให้เจอ โดยมองหาจากการทับซ้อนของ 3 สิ่ง คือ สิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราทำได้ดี และสิ่งที่โลก (หรือตลาด) ต้องการ เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นทักษะเฉพาะตัว เพื่อปลดล็อคศักยภาพของตัวเราสู่การเป็น digital talent” ดร. ชนนิกานต์ทิ้งท้าย

[1] อ้างอิงจาก World Economic Forum Future of Jobs Report