พลังแห่งเทคโนโลยี พลิกการศึกษาของเด็กชายขอบ ต่อยอดการเรียนรู้ไม่รู้จบ

True Blog 01 ธ.ค. 2565

การศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นสิทธิพื้นฐานที่เด็กทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกใบนี้

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีเด็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดีได้เท่ากับเด็กในชุมชนเมือง เด็กกลุ่มนี้ถูกเรียกว่าเป็น “เด็กชายขอบ”

 

เพราะการศึกษาคือต้นทุนชีวิตที่สำคัญของเด็กทุกคน กลุ่มทรู จึงตระหนักถึงปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำในด้านศึกษาของเด็กชายขอบมาตลอด และยึดถือเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญมากกว่า 10 ปี ที่มุ่งมั่น ทุ่มเท บุกเบิกในการนำศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร ช่วยเปิดโลกกว้าง ยกระดับการศึกษาให้กับนักเรียน และครูในพื้นที่ห่างไกล เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมความเสมอภาคในการศึกษาให้ได้มากที่สุด

 

วันนี้ เราได้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงแล้วใน 3 พื้นที่ชายขอบของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ห่างไกลแค่ไหน ทรูก็พร้อมเดินหน้าสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการศึกษาให้เด็กทุกคนได้เรียนอย่างทัดเทียม

 

เด็กเมียนมาร์ในแนวชายแดนมีคะแนนยอดเยี่ยม ติด 10 อันดับแรกของหลักสูตร กศน.

 

ในพื้นที่ห่างไกลไล่ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมาร์ 5 จังหวัด ตั้งแต่ ระนอง กาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน ไปถึงเชียงราย เด็กนักเรียนและครูในพื้นที่นี้ ได้พึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลจากทรู ที่เปิดโอกาสทางการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น จนเกิดผลลัพธ์ที่น่าภูมิใจ คือการได้เห็นเด็กเมียนมาร์จากศูนย์การเรียนรู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ มีคะแนนสอบยอดเยี่ยมติด 10 อันดับแรกของหลักสูตร กศน.ของเมียนมาร์ (Non-Formal Primary Education)

 

 

จุดเริ่มต้นของความสำเร็จนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ที่กลุ่มทรู ได้ร่วมกับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ขับเคลื่อน “โครงการสื่อพกพาเพื่อการรู้หนังสือสำหรับเด็กนอกระบบการศึกษา” หรือ Mobile Literacy for Out-of-School Children Project โดยมอบสื่อไอซีทีจากโครงการทรูปลูกปัญญา ทั้งชุดอุปกรณ์รับสัญญาณทรูวิชั่นส์สื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนการสอน ครอบคลุม 8 กลุ่มสาระวิชา และอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายบนเครือข่ายทรูมูฟ เอช ให้แก่ศูนย์การเรียนรู้กว่า 70 แห่ง ในพื้นที่แห่งนี้

 

ครูกว่า 350 คน ได้พัฒนาทักษะการใช้สื่อพกพาและนำไอซีทีมาประยุกต์ใช้จัดการเรียนการสอน มีนักเรียนกว่า 10,000 คน สามารถเข้าถึงสื่อการเรียนรู้และอินเทอร์เน็ตได้ และเกิดการพัฒนาที่ดีอย่างต่อเนื่อง จนเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นและวัดผลได้จริงว่าเด็ก ๆ มีผลการเรียนรู้ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

นักเรียนปอเนาะสื่อสารภาษาไทยได้ และสอบผ่านเกณฑ์ได้มากขึ้น

 

ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีความท้าทายทั้งในด้านวัฒนธรรมและภาษาท้องถิ่น เนื่องจากชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ใช้ภาษามลายูในการติดต่อสื่อสาร ขณะที่โรงเรียนต่าง ๆ จัดการเรียนการสอนและใช้สื่อการสอนภาษาไทยเป็นหลัก เด็กนักเรียนไทยมุสลิมจึงต้องปรับตัวในการเรียนรู้และสื่อสารภาษาไทย ซึ่งอาจเป็นปัญหาหนึ่งในการเรียนของเด็กได้

 

จากความตั้งใจต่อยอดโอกาสทางการศึกษา พร้อมสร้างความเท่าเทียมในการเรียนรู้ให้กับเด็กทุกคนในทุกพื้นที่ กลุ่มทรู จึงเดินหน้าเข้าสู่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล โดยจัดตั้ง “โครงการสื่อพกพาเพื่อการรู้หนังสือสำหรับเยาวชนปอเนาะ” ติดตั้งชุดสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้จากโครงการทรูปลูกปัญญา ประกอบด้วยชุดอุปกรณ์รับสัญญาณทรูวิชั่นส์พร้อมแพ็กเกจสารคดีชั้นนำจากทั่วโลก แท็บเล็ต อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายพร้อมดาต้า ตลอดจนจัดอบรมการใช้สื่อและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้แก่ครูและนักเรียนของ กศน. ภาคใต้ และสถาบันศึกษาปอเนาะ ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้นี้

 

 

 

เทคโนโลยีอันล้ำสมัยและอุปกรณ์จากโครงการนี้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญให้ครูได้ใช้ในการจัดการเรียนการสอน ขณะที่เด็กนักเรียนกศน. และโรงเรียนรัฐบาลต่าง ๆ ในจังหวัดภาคใต้ ก็สามารถเข้าถึงแหล่งสาระข้อมูลและข่าวสาร ทั้งด้านวิชาการ ศาสนา วัฒนธรรม พร้อมสื่อดิจิทัลภาษาอารบิก และภาษามลายูได้เป็นอย่างดี

 

ในเวลาเพียงไม่ถึง 1 ปีก็เห็นผลสำเร็จอันน่าภูมิใจ นั่นคือ นักเรียนปอเนาะมีผลการเรียนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สามารถสอบผ่านเกณฑ์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้และการสื่อสารภาษาไทยซึ่งเป็นปัญหาหลักของนักเรียนในพื้นที่นี้

 

เด็กบนยอดดอยเชียงราย ได้เปิดโลกกว้างทางการศึกษา และต่อยอดความรู้หารายได้ทางออนไลน์

 

อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของกลุ่มทรู คือ การใช้เครือข่ายอัจฉริยะทรู 5G ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ สร้างความเท่าเทียมทั้งทางการศึกษา และต่อยอดความฝันให้เด็ก ๆ โรงเรียนบ้านป่าซางนาเงิน อ. แม่ฟ้าหลวง จ. เชียงราย ได้สำเร็จ แม้โรงเรียนและชุมชนแห่งนี้จะอยู่บนดอยสูง ติดชายแดนไทย-เมียนมาร์

 

ความก้าวล้ำของเทคโนโลยี 5G เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย ช่วยยกระดับการศึกษา เปิดโลกกว้างให้กับเด็กนักเรียนและผู้คนในพื้นที่ห่างไกล พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2563 กลุ่มทรู เข้าไปดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ 5G ชุมชน ณ โรงเรียนบ้านป่าซางนางเงิน ภายใต้ความร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ติดตั้งเสาสัญญาณ 5G และสนับสนุนเทคโนโลยีสื่อสาร เพื่อยกระดับการศึกษาและการใช้ชีวิต ที่จะทำให้ครู นักเรียน และคนในชุมชน ก้าวทันเทคโนโลยีดิจิทัลได้ทัดเทียบกับคนในเมือง

 

 

เทคโนโลยีดิจิทัลล้ำสมัยจากทรู เข้ามาเสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านป่าซางนาเงิน มีการริเริ่มการเรียนรู้แบบ Project Based Learning โดยครูและนักเรียนใช้อุปกรณ์ดิจิทัล เชื่อมต่อผ่านเครือข่ายอัจฉริยะทรู 5G เสริมการเรียนรู้แบบครบวงจรในโครงงานวิชาต่าง ๆ พร้อมกับการต่อยอดเปิดช่องทางจำหน่ายออนไลน์  อย่างเช่นโครงการ AKHAYA ที่เด็กนักเรียนต่อยอดความรู้ ขายไม้ประดับบอนท้องถิ่นผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก

 

นอกจากนั้น ยังบูรณาการการเรียนรู้รายวิชา นำแว่นเสมือนจริงและสื่อ 360 องศา ประกอบการเรียนรู้เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนที่สนุกสนาน ส่งเสริมให้นักเรียนเกิดแรงบันดาลใจและสร้างเสริมจินตนาการไม่รู้จบ จากการได้เห็นโลกกว้างผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล

 

 

 

 

ยิ่งไปกว่านั้น ทรูยังส่งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา หรือ ICT Talent มาประจำการที่ศูนย์ฯ ช่วยแนะนำและให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ และการใช้โปรแกรมพื้นฐาน เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูป ติ๊กต็อก ซึ่งเด็กนักเรียนที่ทำโครงการขายสินค้าทางออนไลน์ และคนในชุมชนที่ทำมาค้าขาย สามารถนำไปใช้ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ เพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัวได้จริง

 

ความภาคภูมิใจในความสำเร็จของโครงการต่าง ๆ ที่สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาแก่เด็กนักเรียนและชุมชนใน 3 เขตพื้นที่ห่างไกลนี้ เป็นแรงผลักดันและกำลังใจสำคัญให้ กลุ่มทรู เดินหน้าสานต่อความตั้งใจที่จะสร้างโอกาสแห่งความทัดเทียม ในด้านการศึกษาให้ “เป็นจริงได้” ในอีกหลากหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ  

 

อ้างอิง

https://research.eef.or.th/bilingual-education-southern-thailand/