มารู้จักนวัตกรไทย ‘True Robotics’ ทีมพัฒนาหุ่นยนต์ เพื่อคนไทย เมื่อหุ่นยนต์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป!
ถ้าพูดถึง ‘หุ่นยนต์’ ทุกคนจะนึกถึงอะไรกันบ้าง?
หลายคนอาจเห็นภาพหุ่นยนต์แมวพี่เลี้ยงสายซัพพอร์ตอย่างโดราเอมอน หุ่นยนต์แปลงร่างใน Transformers หุ่นยนต์ที่ถอดแบบโครงสร้างมนุษย์จากภาพยนตร์หรือซีรีส์ Sci-Fi ชื่อดังอย่าง Bicentennial Man, I, Robot, Westworld ฯลฯ ภาพจำเหล่านี้อาจทำให้รู้สึกว่าหุ่นยนต์เป็นเรื่องของโลกอนาคตแสนห่างไกล แต่แท้จริงแล้ว หุ่นยนต์ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทใกล้ชิดกับชีวิตผู้คนมานานหลายทศวรรษ แม้หลายเคสจะยังอยู่ในระยะของการพัฒนาแต่ก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ในปัจจุบัน แม้แต่บริษัทระดับโลกต่าง ๆ เริ่มนิยมนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้เพื่อช่วยพนักงานทำงานมากขึ้น อย่าง Amazon บริษัท E-Commerce ยักษ์ใหญ่ ก็เริ่มใช้หุ่นยนต์ช่วยจัดการสต็อกและออร์เดอร์ รวมถึงส่งของดิลิเวอรีในบางพื้นที่ พร้อมเผยว่าหุ่นยนต์ช่วยให้บริษัททำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นถึง 20% รวมทั้งในวงการอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นวงการยานยนต์ที่ให้ความสนใจพัฒนา Wearable Robotics (อุปกรณ์หุ่นยนต์ประเภทสวมใส่ได้) ที่เน้นช่วยผู้ป่วยอัมพาตจากอุบัติเหตุ หุ่นยนต์กู้ภัยที่สามารถวิ่ง บิน คลานหรือแม้แต่ดำน้ำเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ ไปจนถึงวงการแฟชั่นที่ยอมเปิดทางให้นางแบบหุ่นยนต์ได้ออกมาเฉิดฉายบนรันเวย์ หรือแม้กระทั่งรับบทเป็นดีไซเนอร์ออกแบบเสื้อผ้าเสียเอง น่าทึ่งไหมล่ะ!
ส่องเทคโนโลยีหุ่นยนต์ไทยไปกับ ‘True Robotics’
เมื่อหุ่นยนต์กลายเป็นเมกะเทรนด์สุดอิมแพค ไม่ใช่เพียงทั่วโลกที่ให้ความสนใจ แต่ในประเทศไทยก็เช่นกัน หุ่นยนต์ถูกนำมาใช้ในภาคการผลิตจำนวนมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ หรือในส่วนงานบริการก็มีหุ่นยนต์ที่เราได้เห็นกันบ่อย ๆ เช่น หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารหรือหุ่นยนต์ทำความสะอาดบ้านหรือผนังกระจกสูง ยิ่งเมื่อมีเครือข่าย 5G ผสานกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) แล้ว วงการหุ่นยนต์ไทยก็ดูจะยิ่งพัฒนาได้ไกลกว่าเดิมและมีโอกาสฉายแสงได้ไม่แพ้ใคร
กลุ่มทรูเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า หุ่นยนต์คือหนึ่งในนวัตกรรมเทคโนโลยีที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยในยุคดิจิทัล ทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค จึงได้จัดตั้ง ‘True Robotics’ หน่วยงานวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ทั้ง Hardware และ Software โดยมุ่งศึกษาข้อมูลหุ่นยนต์จากทั่วโลก พร้อมทำการวิจัย ทดลองและพัฒนา จนสามารถสร้างสรรค์หุ่นยนต์สัญชาติไทยได้สำเร็จ อีกทั้งยังได้รับรางวัลนวัตกรรมจากหลากหลายเวทีประกวดระดับนานาชาติ
ห้องแล็บวิจัยของ True Robotics ได้ศึกษา วิจัย และพัฒนาหุ่นยนต์ทั้งหมด 4 ประเภท โดยแต่ละประเภทก็จะมุ่งตอบโจทย์ความต้องการของคนหรือภาคธุรกิจที่แตกต่างกันไป
- ชีวิตง่ายขึ้นด้วยหุ่นยนต์ที่เปรียบเสมือน ‘เพื่อนในบ้าน
หากจะพูดถึงหุ่นยนต์ที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุด คงไม่พ้น หุ่นยนต์ในบ้าน (Home Robot) หรือที่หลายคนคุ้นเคยในชื่อ ‘Smart Home’ ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายภายในบ้านให้กับเราตั้งแต่ตอนเช้าจนถึงเวลาเข้านอน หุ่นยนต์ประเภทนี้มีฟังก์ชันที่หลากหลาย และยังเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ ภายในบ้านได้ ให้ผู้ใช้งานควบคุมได้ดั่งใจ
‘HOMEY’ คือหุ่นยนต์ในบ้านสัญชาติไทยที่พัฒนาโดยทีม True Robotics ด้วยหน้าตาที่ดูน่ารักเป็นมิตรบวกกับความสามารถในการอำนวยความสะดวกรอบด้าน HOMEY จึงเปรียบเสมือนเป็น ‘เพื่อนในบ้าน’ ของผู้ใช้งาน นอกจากจะรองรับการสั่งงานด้วยเสียง และจดจำใบหน้าของคนในบ้านได้แล้ว ยังสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หน้าตา การเคลื่อนไหว และการแสดงความรู้สึกไปตามการตั้งค่าของผู้ใช้งานได้อีกด้วย
HOMEY มาพร้อมฟังก์ชันที่ครอบคลุม จึงทำงานร่วมกับเทคโนโลยีบ้านอัจฉริยะได้เป็นอย่างดี ทั้งเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT Smart Home เพื่อควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน และรองรับแอปพลิเคชันการใช้งานพื้นฐานต่าง ๆ ได้ครบ เช่น วิดีโอสตรีมมิง วิดีโอคอล ระบบแจ้งเตือน นอกจากนี้ก็ยังติดตั้งแอปพลิเคชันเพิ่มเติมได้ตามใจผู้ใช้งาน ที่สำคัญ สามารถช่วยดูแลสุขภาพผู้ใช้งานได้ด้วยการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์การทางการแพทย์ เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดความดัน เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด พร้อมแสดงผลบนหน้าจอ เพื่อเป็นข้อมูลปรึกษาแพทย์ทางไกลผ่านวิดีโอคอล รวมถึงช่วยแจ้งเตือนการกินยาหรือตรวจเช็กร่างกายได้อีกด้วย
เทคโนโลยีอันชาญฉลาดเหล่านี้ ทำให้หุ่นยนต์ HOMEY ได้รับรางวัลระดับโลกในปี 2565 นั่นคือ รางวัลเหรียญทองสิ่งประดิษฐ์ และรางวัลพิเศษสำหรับผลงานนวัตกรรมสุดประทับใจ จากเวทีการแข่งขันชั้นนำระดับโลกอย่าง World Invention Innovation Contest 2022 ที่จัดโดย The Korea Invention Newspaper (KINEWS) และได้รับการสนับสนุนจาก Korea Invention Academy (KIA) สมาคมส่งเสริมนักคิดค้นสิ่งประดิษฐ์อาเซียน และสหพันธ์สมาคมนักประดิษฐ์นานาชาติ ณ ประเทศเกาหลีใต้ สะท้อนถึงความสำเร็จและความทุ่มเทของกลุ่มทรูและทีม True Robotics ได้อย่างชัดเจน
- หุ่นยนต์เพื่อคนทำธุรกิจ ช่วยเซอร์วิสอย่างครบวงจร
สำหรับเจ้าของธุรกิจ SMEs แล้ว การบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพคือหัวใจสำคัญ หุ่นยนต์บริการ (Service Robot) จึงเป็นโซลูชันที่ลงตัว เพราะช่วยลดต้นทุนด้านบุคลากรได้ โดยที่มาตรฐานงานบริการไม่ลดตามไปด้วย หุ่นยนต์บริการนี้ตอบโจทย์การใช้งานทั้งในห้างสรรพสินค้า งานแสดงสินค้า ร้านค้า และร้านอาหาร โดยสามารถอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การช่วยค้นหาและนำทางไปยังชั้นวางสินค้าที่ต้องการซื้อ ไปจนถึงการเสนอโปรโมชันที่น่าสนใจผ่านหน้าจอให้ลูกค้า นอกจากนี้ ยังช่วยดูแลและตรวจสอบสต็อกสินค้าได้ หากสินค้าหมดจะแจ้งเตือนไปยังระบบทันที เพื่อให้พนักงานเติมสินค้ารองรับลูกค้าได้ทัน ช่วยให้ไม่เสียโอกาสในการขาย แถมเพิ่มประสบการณ์ให้การซื้อขายน่าประทับใจยิ่งขึ้น
ด้วยจุดเด่นของ Service Robot ที่ช่วยยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตสู่ยุคนิว นอร์มัล ให้ผู้คนลดการสัมผัสกันโดยตรง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ทีม True Robotics จึงสามารถคว้ารางวัลเหรียญเงิน จากเวทีประกวดผลงานนวัตกรรมระดับนานาชาติ “XXIII Moscow International Inventions and Innovative Technologies Salon” หรือ ARCHIMEDES-2020 จากสหพันธรัฐรัสเซีย นับเป็นอีกหนึ่งผลงานของคนไทยที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
อีกหนึ่งรูปแบบของหุ่นยนต์บริการที่น่าสนใจ คือหุ่นยนต์ที่ใช้ระบบ AI สื่อสารตอบโต้กับผู้ใช้งานได้อย่างชาญฉลาด พร้อมให้ข้อมูลผู้ใช้งานได้อย่างแม่นยำ ตัวอย่างเช่น True 5G ROBO-GREET หุ่นยนต์ Humannoid อัจฉริยะ ที่มาพร้อมความฉลาดของ AI ที่นอกจากช่วยให้ข้อมูลแล้ว ยังฉลาดตรงสามารถรับรู้ถึงอารมณ์ของผู้ใช้งานผ่านทางสีหน้าท่าทางได้อีกด้วย
- เทรนด์การศึกษายุค 5G มีหุ่นยนต์เป็นตัวขับเคลื่อน
ใครว่าการศึกษาต้องอยู่บนตำราเท่านั้น การศึกษายุคใหม่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันเพื่อการศึกษา หรือการใช้เทคโนโลยี VR / AR เป็นสื่อการสอน และแน่นอนว่า หุ่นยนต์เพื่อการศึกษา (Education Robot) ก็เป็นหนึ่งในเทรนด์ EdTech ที่กำลังมาแรง หุ่นยนต์นี้อาจไม่ได้ทำหน้าที่แทนครูทั้งหมด แต่จะเป็นผู้ช่วยนำเสนอสื่อการสอนให้สนุกและน่าสนใจ เพิ่มทักษะด้านต่าง ๆ ให้กับผู้เรียนด้วยข้อมูลที่แม่นยำและการตอบสนองแบบเรียลไทม์ มั่นใจได้ว่าผู้เรียนจะได้รับความรู้ที่ถูกต้อง เช่น หุ่นยนต์ไอน์สไตน์สัญชาติฮ่องกง ที่เชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต ด้วย AI ที่เชี่ยวชาญในวิชาวิทยาศาสตร์และฟิสิกส์ หุ่นยนต์ไอน์สไตน์จึงสามารถสอน ตอบคำถาม และช่วยนักเรียนทบทวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อุ่นใจเหมือนมีนักฟิสิกส์คนดังมาติวให้แบบใกล้ชิด
- หุ่นยนต์รูปแบบใหม่ยังเกิดขึ้นได้เสมอด้วย AI และ 5G
นอกจากหุ่นยนต์ประเภทต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว เทคโนโลยี AI และเครือข่าย 5G ยังรังสรรค์ให้เกิดหุ่นยนต์ประเภทอื่น ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการอีกหลากหลายด้านที่เราอาจคาดไม่ถึง เช่น ‘Pongbot’ หุ่นยนต์สายสปอร์ต สำหรับช่วยนักกีฬาปิงปองฝึกซ้อม ทำหน้าที่เหมือนโค้ชมืออาชีพ จับการเคลื่อนไหวทำให้ฝึกการตีปิงปองได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่ True 5G และสมาคมกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทยได้นำมาช่วยพัฒนาทักษะของนักกีฬาไทย นอกจากนี้ยังมี ‘Loomo’ หุ่นยนต์พาหนะ ที่มาในรูปแบบของรถยืนไฟฟ้า (Segway) มีระบบบันทึกและประมวลผล พร้อมกล้องที่สามารถเดินตามผู้ใช้งานได้เมื่อเข้าสู่พื้นที่ที่ไม่สามารถใช้งานได้
‘True Robotics Platform’ บริหารจัดการหุ่นยนต์ทั่วโลกได้ในแพลตฟอร์มเดียว
ปัญหาใหญ่ที่ผู้ใช้หุ่นยนต์มักจะต้องเผชิญ คือการที่หุ่นยนต์แต่ละตัวมาจากผู้ผลิตต่างค่ายกัน จึงต้องใช้แพลตฟอร์มบริหารจัดการต่างกัน ทำให้ผู้ใช้งานต้องเรียนรู้แพลตฟอร์มแยกสำหรับหุ่นยนต์แต่ละตัว เพื่อแก้ปัญหานี้ ทีม True Robotics จึงได้ทุ่มเทพัฒนา ‘True Robotics Platform’ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้ใช้หุ่นยนต์บริหารจัดการหุ่นยนต์ประเภทต่าง ๆ จากผู้ผลิตทั่วโลกได้ในแพลตฟอร์มเดียว เพื่อผู้ใช้หุ่นยนต์สะดวกสบายและประหยัดเวลาได้มากขึ้น
True Robotics Platform ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางแอปพลิเคชันของหุ่นยนต์ (App Store) ที่ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดและติดตั้ง เพื่อเพิ่มฟังก์ชันให้กับหุ่นยนต์ได้มากยิ่งขึ้น เช่น
- ฟังก์ชันการถ่ายรูป เปลี่ยนให้หุ่นยนต์เป็นเหมือนมีตู้ถ่ายรูปเคลื่อนที่ได้
- ฟังก์ชันที่ให้หุ่นยนต์สามารถทำหน้าที่เป็นไกด์นำทางตามสถานที่ต่าง ๆ
- ฟังก์ชันช่วยลงทะเบียนผ่านการ Scan ใบหน้า
- ฟังก์ชันในการจัดการคิวของผู้เข้าร่วมงาน เป็นต้น
ในอนาคต แพลตฟอร์มนี้ยังมีแผนพัฒนาที่จะเพิ่มเติมฟังก์ชันอื่น ๆ ต่อไปอีก เพื่อเสริมศักยภาพการทำงานของหุ่นยนต์ให้สามารถอำนวยความสะดวกและตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของเราได้มากขึ้น
การพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในไทยจะก้าวไปได้ไกลแค่ไหน?
ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่ใหญ่เป็นอันดับ 13 ของโลก และมีแนวโน้มจะไต่อันดับสูงขึ้นอีกในอนาคต โชว์ให้เห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทย ซึ่งก็สอดคล้องกับเป้าหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้ประกาศแผนพัฒนาระยะยาวในปี 2569 ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิต การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอาเซียน โดยมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งตัวเร่งให้หุ่นยนต์มีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา True Robotics ได้นำความเชี่ยวชาญของทีมงานและเทคโนโลยีหุ่นยนต์ล้ำสมัย ตลอดจนเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ อาทิ เทคโนโลยี Face Recognition และ Thermo Scan ช่วยในการระบุตัวตนและตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย เพื่อคัดกรองผู้ป่วยในพื้นที่ต่างๆ รวมถึง การใช้หุ่นยนต์เพื่อส่งน้ำ อาหาร ยา ให้แก่ผู้ป่วย และสื่อสารวิดีโอคอลระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรการแพทย์ ช่วยแบ่งเบาภารกิจ และช่วยลดการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของบุคลากรการแพทย์ เพื่อให้คนไทยก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน
วันนี้ ทรู ได้ก้าวสู่การเป็น Tech Company ที่พร้อมจะสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัล เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย กลุ่มทรูจึงได้มุ่งมั่นทุ่มเทในการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ไทยมาโดยตลอด ไม่ใช่เพียงเพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้ทั้งภาคธุรกิจไทยก้าวทันเทคโนโลยีล้ำสมัย และสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สร้างความแตกต่างและความได้เปรียบในการแข่งขันในเวทีโลกด้วย