กลุ่มทรู แสดงวิสัยทัศน์ โอกาสและความท้าทาย เมื่อ AI หลอมรวมกับศักยภาพมนุษย์
ปิดฉากลงไปแล้วสำหรับงานสัมมนาระดับภูมิภาค "MIT Media Lab Southeast Asia Forum" จัดโดย MIT Media Lab หน่วยงานวิจัยของโลกด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม การออกแบบ และศิลปะของสถาบันเทคโนโลยี แมสซาชูเซตส์ (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย กลุ่มทรู ร่วมสนับสนุนและเปิด ทรู ดิจิทัล พาร์ค เป็นสถานที่จัดงาน พร้อมนำระบบนิเวศดิจิทัลครบวงจรที่มีส่วนสำคัญในการยกระดับวงการเทคและสตาร์ทอัพ ร่วมแสดงศักยภาพความสามารถของคนไทยต่อสายตาผู้ร่วมงานจากทั่วโลก
โดยมี นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ได้ร่วมบรรยายพิเศษหัวข้อ "Human+AI : Opportunities and Challenges" แบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ที่จะพลิกโฉมโลกธุรกิจและการใช้ชีวิตของผู้คน ตอกย้ำความมุ่งมั่นและความเป็นผู้นำของกลุ่มทรู ซึ่งเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างคนและเทคโนโลยี ก่อให้เกิดนวัตกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาบุคคล องค์กร และเศรษฐกิจไทย ความสามารถทางการแข่งขัน และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมตั้งเป้าขยายความร่วมมือทั้งในด้านธุรกิจ การพัฒนาโซลูชัน และสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร เพื่อสรรค์สร้างนวัตกรรมระดับแนวหน้าให้แก่ผู้ประกอบการเทคและสตาร์ทอัพประเทศไทยอย่างเต็มที่
เทคโนโลยี AI เปลี่ยนชีวิต พลิกโฉมธุรกิจไทย
นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวย้ำความเป็นผู้นำของ กลุ่มทรู ที่ก้าวสู่การเป็นบริษัทเทคว่า มีโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและบริการดิจิทัลครบวงจร พร้อมยกตัวอย่างนวัตกรรมที่ทรูได้พัฒนาโดยใช้เทคโนโลยี AI ผสานความรู้ของผู้ชำนาญการในหลากหลายสาขา เพื่อช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ภาคสาธารณสุข เกษตรกรรม และค้าปลีก
สาธารณสุข : ผนึกพันธมิตร ขยายบริการทางการแพทย์ให้รวดเร็วและทั่วถึง
แม้ว่าประเทศไทยจะมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญการจำนวนมาก แต่ยังไม่เพียงพอในการดูแลรักษาผู้ป่วย อีกทั้งแพทย์ส่วนมากอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่และอยู่ในเมือง ทำให้การกระจายการรักษาพยาบาลยังไม่เพียงพอ ทรู จึงมุ่งมั่นในการกระจายบริการรักษาพยาบาลออกไปจากศูนย์กลาง มีโอกาสทำงานร่วมกับสถาบันการแพทย์หลายแห่งทั้ง รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.รามาธิบดี รพ.ศิริราช ที่มีอาจารย์แพทย์จำนวนมาก
ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการพบแพทย์ออนไลน์ราว 400,000 ราย และมีความเชื่อในการผสานโลกกายภาพและดิจิทัลเข้าด้วยกัน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ MIT Media Lab ที่ว่า การผสมผสานของดิจิทัลและคนย่อมดีกว่าการพึ่งพาเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว โดยทรูได้เปิด "มุมสุขภาพ" หรือ "True HEALTH Corner" ในพื้นที่หลายแห่ง มีอุปกรณ์ตรวจวัดค่าต่างๆ ของร่างกายเบื้องต้นและ ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ ได้ทันที ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ทรู ยังทำงานร่วมกับ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดศูนย์สุขภาพรามาธิบดี ขยายพื้นที่ให้บริการที่ใหญ่และเพิ่มบริการหลากหลายมากขึ้น อาทิ บริการเจาะเลือด และเก็บสิ่งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ เอกซเรย์ปอด และ EKG เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์ รวมถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอัจฉริยะหรือ Smart EMS (Smart Emergency Medical Service) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการจากความร่วมมือกับ โรงพยาบาลศิริราช ที่สะท้อนให้เห็นนวัตกรรมโซลูชันที่ชูศักยภาพของมนุษย์ โดยมีความชำนาญการของแพทย์ พยาบาล เป็นตัวนำ และเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย
สิ่งนี้เป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของทรูที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นและจะเป็นจริงได้ด้วยการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศ และเชื่อว่าในอนาคตหากมีมุมมองแบบองค์รวมของการดูแลสุขภาพที่เชื่อมโยงถึงกันจะสามารถสร้างสรรค์และให้บริการโซลูชันที่ดียิ่งขึ้นเท่าทวีคูณเพื่อประชาชน
เกษตรกรรม : เกษตรอัจฉริยะกับความท้าทายในการเพิ่มผลผลิต
แม้ภาคการเกษตรจะเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ในประเทศไทย แต่กลับยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของ เกษตรกร และนำมาซึ่งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทรูจึงพัฒนานวัตกรรมหลากหลายเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาเหล่านี้ สำหรับกลุ่มเกษตรพืช โดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียมและโดรนสอดส่องปัญหาและคาดเดาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นล่วงหน้า ด้านปศุสัตว์ใช้เทคโนโลยี IoT และ Analytics ในการตรวจจับและวิเคราะห์พฤติกรรมสัตว์ เช่น ในฟาร์มโคนม จะใช้เครื่องตรวจวัดสุขภาพที่สามารถแจ้งเตือนปัญหาเพื่อปรับเปลี่ยนการเลี้ยงโคให้เหมาะสม ส่วนในฟาร์มสุกรและกุ้ง จะนำระบบวิเคราะห์ด้วยวิดีโอที่ตรวจจับการเคลื่อนไหวของสุกรและกุ้ง เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพและปริมาณของผลผลิต ทั้งนี้ การวางระบบที่แม่นยำ การคาดการณ์ปริมาณผลผลิต จักรกลช่วยเก็บเกี่ยว และการตรวจสอบควบคุมการทำงานของเครื่องจักรต่างๆ ล้วนเป็นความท้าทายที่ทรูและเหล่าสตาร์ทอัพทำงานร่วมกับเกษตรกรอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในภาคอุตสาหกรรมนี้
ค้าปลีก : พลิกโฉมธุรกิจค้าปลีกด้วยเทคโนโลยี AI
เนื่องจาก ธุรกิจค้าปลีก ยังสามารถต่อยอดพัฒนาได้อีกมากมาย ทั้งเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพและการตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทรูจึงพัฒนาโซลูชันต่างๆ ที่ช่วยลดช่องว่างดังกล่าว เช่น Heatmap ทำให้ทราบพฤติกรรมของลูกค้าในการเดินซื้อสินค้า เพื่อนำมาปรับปรุงการให้บริการ และระบบตรวจสอบชั้นวางสินค้าที่ว่าง พร้อมแจ้งเติมสินค้าและเชื่อมโยงกับคลังสินค้าเพื่อการวางแผน รวมถึงระบบเซ็นเซอร์ที่ใช้เทคโนโลยี AI ช่วยวิเคราะห์และตรวจสอบระบบตู้แช่เย็น เพื่อการดูแลรักษาคุณภาพ ซึ่งล้วนอาศัยการทำงานร่วมกันของมนุษย์และ AI ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ความต้องการซื้อสินค้า การจัดการสินค้า การวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า การนำเสนอโฆษณาแบบเฉพาะเจาะจง โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้ง องค์กร สตาร์ทอัพ หน่วยงานภาครัฐ นักวิจัย และนักประดิษฐ์ ที่จะผสานเชื่อมโยงเครือข่ายเป็นระบบนิเวศเพื่อเผชิญความท้าทายเหล่านี้ไปด้วยกัน
ทัศนคติเชิงบวกและความเชื่อมั่นคือพลังสร้างสรรค์นวัตกรรม
นายณัฐวุฒิ กล่าวสรุปพร้อมสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ร่วมงานว่า แม้ AI จะช่วยยกระดับการทำงานให้กับมนุษย์ได้ แต่ความเห็นอกเห็นใจยังเป็นสิ่งที่ AI ไม่สามารถทำได้ การทำงานร่วมกันของมนุษย์และ AI จึงเป็นแนวทางที่ ทรู เชื่อและทำเสมอมา ซึ่งการสร้างนวัตกรรมนั้นมักจะต้องพบกับความสงสัยในความเป็นไปได้อยู่เสมอ แต่นั่นคือโอกาสที่จะเป็นคนแรกที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมนั้น ทัศนคติเชิงบวก และความเชื่อมั่นจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนเปิดใจ และเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้นวัตกรรมต่างๆ นั้นเกิดขึ้นได้จริง