ทิปส์เด็ด

ไอเดียหาเงินออนไลน์
ตามสไตล์ที่ชอบ

 

ตกงาน โควิดทำรายได้ถดถอย หรือเงินน้อย อยากสร้างรายได้เพิ่ม ไม่ว่าคุณจะอยู่ในโหมดไหนก็มีทางออกได้เพียงใช้ความชอบของตัวเองบวกกับอินเทอร์เน็ต ก็สามารถหาเงินจากโลกออนไลน์ได้แล้ว ลองดูกันเลยว่าความชอบของคุณสามารถสร้างงานสร้างเงินได้อย่างไรบ้าง

 

ชอบเขียน

สำหรับคนที่ชอบเขียนแนวสาระ ขอแนะนำ Blockdit แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียฝีมือคนไทย พื้นที่ใหม่สำหรับคนรักการอ่านคอนเทนต์คุณภาพ ซึ่งคุณสามารถหารายได้ด้วยการสร้างเพจขึ้นมาเพื่อเขียนบทความ โดยเมื่อมีผู้ติดตามครบ 1,000 คน และมีโพสต์ที่ได้ดาวอย่างน้อย 3 โพสต์ ก็จะสามารถกดปุ่มเปิดหารายได้ได้แล้ว หรือหากชอบเขียนบทความแนวไลฟ์สไตล์ก็ต้อง TrueID In-Trend ซึ่งนักเขียนจะได้รับเงินรางวัลผ่านทรูมันนี่วอลเล็ท เมื่อมียอดผู้เข้าชมบทความถึง 500 วิว ส่วนใครที่ชอบเขียนยาวๆ หรืออยากรวมเล่มเป็นอีบุ๊ก สามารถอัปโหลดผลงานของตัวเองขึ้นขายที่ Meb และ Ookbee แล้วรอรับ 70% เปอร์เซ็นต์จากยอดขาย สำหรับคอนิยาย ลองเข้าไปที่ ReadAWrite โดยคุณสามารถสร้างรายได้จากการติดเหรียญ(ขาย)ตอนต่อตอนเลย และหากชอบเขียนแนวแปลกใหม่ต้องไม่พลาดที่จะเขียนนิยายแชทที่ จอยลดา ซึ่งรายได้จะคำนวณจากยอดจอยหรือยอดคนอ่าน ยิ่งมีคนอ่านเยอะคุณก็จะยิ่งได้เงินเยอะมากขึ้น นอกจากนี้คุณอาจสร้างเว็บไซต์ หรือบล็อกของตัวเองเพื่อเขียนคอนเทนต์ที่น่าสนใจ จากนั้นก็สมัคร Google AdSense เพื่อหารายได้จากโฆษณาที่จะถูกส่งมาขึ้นบนเว็บไซต์ของคุณ ไม่เพียงเท่านั้นคุณยังสามารถสมัคร Affiliate Program เพื่อนำลิงก์ของสินค้าหรือบริการมาโฆษณาบนเว็บไซต์ของคุณ ซึ่งคุณจะได้ผลตอบแทนเมื่อมีคนคลิกลิงก์หรือซื้อสินค้าบริการผ่านลิงก์นั้นๆ

 

ชอบตอบ

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบตอบแบบสอบถามล่ะก็ เว็บไซต์ Thai Survey และ Rakuten Insight นี่แหละใช่เลยสำหรับคุณ เพราะคุณสามารถเข้าไปตอบแบบสอบถามเพื่อสะสมคะแนนไว้แลกบัตรของขวัญ ของรางวัล หรือเงินสดได้ แต่หากถนัดตอบแบบสอบถามผ่านสมาร์ทโฟนสามารถเลือก YouGov และ Yimresearch ได้ เพราะทั้งคู่สามารถทำแบบสอบถามได้ทั้งบนเว็บไซต์หรือแอป ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วหัวข้อของแบบสอบถามออนไลน์จากเว็บหรือแอปเหล่านี้มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับสินค้าและบริการเพื่อการวิจัยทางการตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์

 

ชอบถ่ายภาพ

หากคุณเป็นช่างภาพมือโปรต้องไม่พลาดที่จะฝากขายภาพในเว็บไซต์ขายภาพยอดนิยมอย่าง Shutterstock, iStockphoto, Adobe Stock, 123RF, dreamstime, Fotolia, POND5, Depositphotos, CanStockPhoto, freepik, Freepik, Creative Market และ PhotoShelter ซึ่งในการขายหนึ่งครั้งสามารถทำเงินได้ตั้งแต่ 30-3,000 บาทต่อรูปทีเดียว ส่วนใครที่อาจยังไม่ใช่ช่างภาพมืออาชีพ ก็สามารถเปลี่ยนภาพถ่ายจากมือถือให้กลายเป็นเงินได้ด้วยแอป Foap หากมีคนซื้อรูปถ่ายของคุณ คุณจะได้รับเงินประมาณ​ 150 บาทต่อรูป ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วการขายภาพแบบออนไลน์นั้น รูปหนึ่งรูปสามารถขายได้อย่างไม่จำกัด นั่นหมายถึงว่าหากภาพของคุณเป็นที่ต้องการของคนหลายกลุ่ม ก็อาจขายได้เรื่อยๆ ซ้ำๆ สร้างรายได้แบบ Passive Income เลยทีเดียว

 

ชอบขาย

นอกจากแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์อย่าง Shopee, Lazada, JD CENTRAL, LnwShop, Weloveshopping, Kaidee, PantipMarket, ebay, Amazon ที่คุณสามารถขายของออนไลน์ได้แล้ว แน่นอนว่าคุณยังสามารถสร้างเว็บไซต์ รวมถึงเพจใน Facebook หรือสร้างโพรไฟล์ธุรกิจสำหรับร้านค้าของคุณใน Instagram เพื่อขายของได้ด้วย โดยรูปแบบการขายอาจเป็นแบบซื้อมาขายไป หรือแบบ Dropship ซึ่งหมายถึงการเป็นตัวแทนจำหน่าย โดยข้อดีของ Dropship ก็คือไม่ต้องสต็อกสินค้า ไม่ต้องลงทุน และไม่ต้องส่งของเอง เพียงแค่นำสินค้าจากผู้ผลิตหรือผู้ขายจริงมาทำการโฆษณาขายสินค้าในรูปแบบและราคาที่คุณกำหนดเอง และเมื่อขายได้ก็ให้ทางผู้ผลิตหรือผู้ขายจริงนั้นทำการจัดส่งสินค้าให้ในนามของร้านคุณ

 

ชอบทำงานอาร์ต

สายศิลปะอย่างคุณอาจรับวาดภาพประกอบ ออกแบบโลโก้ หรือรับวาดภาพเหมือนผ่านเว็บไซต์ที่เป็นแหล่งรวมฟรีแลนซ์อย่าง Fastwork, Thaifreelanceagency หรือคุณอาจนำผลงานของคุณขึ้นขายบนเว็บขายภาพถ่าย แต่หากอยากเห็นผลงานกราฟิกของคุณไปอยู่บนเสื้อยืด ปลอกหมอน เคสโทรศัพท์ แก้วน้ำ และของใช้ต่างๆ ก็สามารถทำได้ด้วยการสมัครและอัปโหลดไฟล์รูปผลงานที่คุณออกแบบที่เว็บไซต์อย่าง Redbubble, Teespring, cafepress, Zazzle และ Threadless จากนั้นก็ทำการปรับตำแหน่งรูปให้อยู่ในตำแหน่งที่สวยงามเหมาะสมกับสินค้าแต่ละชนิดก่อนนำเสนอขายหน้าเว็บ โดยทางเว็บจะทำการผลิตและจัดส่งสินค้าเมื่อมีคำสั่งซื้อ ซึ่งรายได้ของคุณก็คือเปอร์เซ็นต์จากการขายนั่นเอง 

 

ไม่ว่าคุณจะชอบอะไร ขอเพียงตั้งใจและลงมือทำ เราก็เชื่อมั่นว่าผลงานจากความชอบของคุณนั้นจะช่วยสร้างรายได้ให้กับคุณไม่มากก็น้อย เหมือนเช่นที่ Walt F.J. Goodridge เคยกล่าวไว้ว่า “คุณสามารถทำเงินได้จากสิ่งที่คุณรัก แม้ในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำก็ตาม”